คลังความรู้เกษตร : ความรู้คู่เมล็ดพันธุ์
เรื่องน่ารู้ ก่อนลงมือปลูกผักสวนครัว
การเตรียมดินปลูกผักสวนครัว
ผัก เป็นพืชที่มีระบบรากตื้น สามารถปลูกลงพื้นดินหรือในภาชนะ ความลึกตั้งแต่ 20 ซม.ขึ้นไป ขนาดความกว้างขึ้นอยู่กับชนิดผัก ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่แดดส่องถึง
- การเตรียมดินเพื่อปลูกในภาชนะ ใช้ ดิน ผสม ปุ๋ยหมัก และ ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1:1 คลุกให้เข้ากัน รดน้ำพอชุ่ม
- การเตรียมดินเพื่อปลูกในแปลง พรวนดิน ตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ ย่อยดินให้ละเอียด ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กก.ต่อพื้นที่ 1 ตร.เมตร. ยกแปลงสูง 15-30 ซม. กว้างประมาณ 1 เมตร และมีพื้นที่ระหว่างแปลง 50 ซม. เพื่อความสะดวกในการทำงาน ความยาวตามขนาดพื้นที่ ตามทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้ได้รับแสงทั่วถึง
- การเตรียมดินเพื่อเพาะเมล็ด ใช้สูตรปุ๋ยหมักร่อนผสมกับขุยมะพร้าวร่อน หรือ ดินร่วนผสมกับขุยมะพร้าวร่อน อัตราส่วน 1:1 หรือสูตร ดินร่วน : ปุ๋ยคอกเก่าเนื้อละเอียด : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1:1
เทคนิคการเพาะกล้า
- เลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ตรงตามพันธุ์ เปอร์เซ็นต์ความงอกสูง
- เมล็ดที่มีเปลือกแข็ง เช่น เมล็ดมะเขือ พริก ควรแช่น้ำอุ่น (น้ำร้อนผสมน้ำเย็น 1:1) แช่ทิ้งไว้ 10-12 ชม. จึงนำไปเพาะ
- เมล็ดที่มีเปลือกหุ้มหนาและมีผลย่อย เช่นเมล็ดผักชี ควรนำมานวดเปลือกหุ้มให้แตก แช่น้ำ 1 คืน แล้วจึงนำไปเพาะ
- เมล็ดผักบุ้งจีน นำมาแช่น้ำ 6-8 ชม. นำมาห่อให้ชื้นอีก 6 ชม. เมื่อเมล็ดเริ่มปริแล้วนำไปปลูก จะงอกได้เร็วขึ้น
- กรอกวัสดุเพาะกล้าผักลงถาดหลุมหรือภาชนะเพาะกล้า ให้สูงเพียง 2ใน3 ของภาชนะ เพื่อไม่ให้เมล็ดกระเด็นออกจากหลุมเพาะเวลารดน้ำ
- ใช้ไม้ขนาดใหญ่กว่าเมล็ดเล็กน้อย จิ้มดินลึก 0.5 – 1 ซม. หยอดเมล็ดและกลบด้วยวัสดุปลูก หว่านปูนขาวทับด้านบน ป้องกันมดแมลง
- เมื่อต้นกล้ามีใบจริง ควรให้ต้นกล้าได้รับแสง และช่วยพรางแสงหากแดดแรงเกินไป
- ผักตระกูลแตง ควรรีบย้ายกล้าเมื่ออายุ 7-10 วัน ผักคะน้า กวางตุ้ง ย้ายกล้าอายุ 10-15 วัน ส่วนพืชที่ลงหัว เช่น ผักกาดหัว แครอท ไม่ควรย้ายปลูก
- เมื่อย้ายกล้าลงแปลงแล้ว หากโดนแสงแดดแรงเกินไปควรทำที่พรางแสงช่วยในสัปดาห์แรก
การปลูก
การปลูกผักโดยใช้เมล็ด หรือส่วนขยายพันธุ์
- ปลูกโดยใช้เมล็ด เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ถั่ว พริก มะเขือ ผักกาด ปลูกได้ 3 วิธี
- เพาะกล้าแล้วย้ายปลูก เหมาะกับเมล็ดที่ราคาแพง หรือต้องการการดูแลสูง หรือเป็นช่วงที่ฝนตกชุก
- หว่านเมล็ดลงแปลง วิธีนี้สิ้นเปลืองเมล็ด เมล็ดอาจกระจายตัวไม่ดี อาจใช้เมล็ดผสมทรายขณะหว่าน เมื่อต้นกล้าโตค่อยถอนแยกต้นที่แน่นเกินออกไป
- หยอดเมล็ดลงหลุม ใช้กับผักที่มีเมล็ดใหญ่ หรือที่ปลูกเพื่อกินราก เช่น ผักกาดหัว แครอท
- ปลูกโดยใช้ส่วนขยายพันธุ์ เช่น กิ่ง ต้น หัว ไหล โดยตัดกิ่ง หรือตัดแบ่งหัว ลงหลุมปลูก
การรดน้ำ
ผักเป็นพืชอายุสั้น รากตื้น ต้องการน้ำสม่ำเสมอ ชุ่มแต่อย่าแฉะ อย่าให้น้ำขัง รากจะเน่าเพราะขาดออกซิเจน
- การรดน้ำในแปลงเพาะหรือถาดเพาะกล้า ควรใช้บัวฝอย อย่าใช้น้ำแรงจนเมล็ดกระจาย
- ควรรดน้ำเช้า-เย็น อย่ารดน้ำตอนแดดจัด
- ช่วงที่ผักออกดอก ติดผล ต้องระวังอย่าให้ขาดน้ำ
- ช่วงที่ผลแก่ระวังอย่าให้น้ำมากเกินไปจนทำให้ผลแตก
- ควรงดน้ำ 15 วันก่อนเก็บเกี่ยวผักบางชนิด เช่น ฟักเขียวและฟักทอง
การบำรุงดินและการให้ปุ๋ย
ควรปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีโดยใช้อินทรีวัตถุ ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก คลุกเคล้ากับดิน และห่มดินให้ชุ่มชื้น ใช้น้ำหมักชีวภาพในการเติมจุลินทรีย์ลงดิน ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีเสริม ควรใช้เท่าที่จำเป็น โดยใส่เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้วและอย่าใส่ชิดโคนต้น เมื่อใส่ปุ๋ยเคมีแล้วต้องพรวนดินและรดน้ำตาม ปุ๋ยเคมี (NPK) ใช้ N เพื่อบำรุงใบ P บำรุงดอก,ราก และ K สำหรับบำรุงผล
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง โดยใช้กระป๋องน้ำมันเครื่อง พลาสติกหรือถุงสีเหลืองที่มีกาวเหนียว ดักแมลงศัตรูตัวเต็มวัยในเวลากลางวัน เช่น เพลี้ยไฟ เมลงวันหนอนชอนใบ ผีเสื้อหนอนแมลงศัตรูผัก วางสูงจากดิน 50 ซม. ระยะ 4x4 เมตร จำนวนติดตั้งขึ้นกับฤดูและความหนาแน่นของแมลง
- ใช้กับดักแสงไฟ ดักจับเมลงศัตรูในตอนกลางคืน วางสูงจากดิน 150 ซม. บังแสงอย่าให้กระจายมากเกินไป ใช้ภาชนะใส่น้ำรองรับใต้หลอดห่าง 30 ซม. แสงที่เหมาะสมในการล่อแมลงหรือแสงสีม่วงหรือสีน้ำทะเล หรือหลอดไฟธรรมดาก็สามารถใช้แทนได้
- ใช้สารสกัดจากสะเดา หรือสารสกัดจากพืชกำจัดแมลงอื่นๆ เช่น โล่ติ้นหรือหางไหล หรือใช้ยาฉุน 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แช่น้ำ 1 คืน นำมาฉีดพ่นไล่แมลง
- ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ป้องกันโรคเน่า หรือ การใช้แบคทีเรียกำจัดหนอน ฉีดพ่นในช่วงบ่ายหรือเย็น ก่อนใช้ควรรดน้ำในแปลงก่อน
- ไส้เดือนฝอย กำจัดด้วงหมัดผักและหนอนกระทู้หอม ราดในแปลงปลูกหลังให้น้ำช่วงเย็น
- ใช้สารไพรีทรอยด์ กำจัดแมลง แต่ถ้าใช้บ่อยเกินไปจะทำให้แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยไฟ และไร ระบาดมากขึ้น
- ปลูกพืชมีกลิ่น เพื่อไล่แมลง
- การกำจัดวัชพืช ให้ใช้จอบถาก หรือ ใช้มือถอน
การป้องกันกำจัดโรคพืช
ทำให้ผักแข็งแรง ต้นไม่แน่นเกิน แปลงปลูกสะอาด น้ำไม่ขัง รดน้ำปูนใส โดยใช้ปูนขาว 5 กก.ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน นำน้ำปูนใส 1 ส่วน ผสมน้ำ 5 ส่วน รดในแปลงปลูก ถ้าพบใบหรือต้นที่เป็นโรค ต้องตัดแล้วเก็บออกนอกแปลงและนำไปทำลาย
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บผลผลิตตอนเช้า เก็บในระยะที่พอดีไม่แก่หรืออ่อนเกินไป อย่าทิ้งให้ผลแก่คาต้นเพราะจะทำให้ผลผลิตลดลง
การปลูกผักหมุนเวียนลดโรคแมลง
- ผักใบบางชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้ง คะน้า กะเพรา โหระพา กระหล่ำปลี หากเก็บผลผลิตโดยทิ้งต้นไว้ในดิน ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน จะสามารถเก็บกินได้ต่อเนื่อง
- ทะยอยปลูก ให้มีปริมาณไม่มากเกินไป พอเก็บผลผลิตเป็นครั้งๆไป
- ปลูกผักคละชนิดในแปลงเดียว
- ปลูกผักหมุนเวียน ไม่ซ้ำชนิดในแปลงเดิม เพื่อป้องกันโรคและแมลง
วิธีปลูก

ผักคะน้า

ผักบุ้งจีน

มะเขือเปราะ

มะเขือยาว

บวบเหลี่ยม

ฟักทอง
รวบรวมโดย
ศูนย์สิรินธรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์